ความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม


ความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรมตามกฏหมายโรงงานได้ให้ความหมายไว้ว่า โรงงานคืออาคารสถานที่มีคนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ในปัจจุบันที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจึงทำให้โรงงานเป็นสถานที่ที่มีคนงานหรือผู้เกี่ยวข้องอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้หลายๆโรงงานยังต้องใช้แรงงานบุคคลทำงานร่วมกับเครื่องจักรกลทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานมีลักษณะค่อนข้างอันตราย จึงทำให้ภายในโรงงานต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อควบคุมและกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในโรงงาน

มาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีมาตรฐานหลายด้าน โดยมีหมวดที่เกี่ยวข้องกับอาคารสถานที่ และการก่อสร้างโรงงานดังนี้

หมวด 1 มาตรฐานด้านความร้อน
1. ความร้อนภายในสถานที่ประกอบการไม่ควรมีสภาพอุณหภูมิที่สูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
2. นายจ้างควรพิจารณาให้มีการจัดเตรียมเครื่องมือสำหรับป้องกันความร้อนให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งควรจัดหามาตรการที่จะสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความร้อนภายในสถานประกอบการ มีสภาพอุณหภูมิสูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
3. ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความร้อนภายในสถานประกอบการ มีสภาพอุณหภูมิสูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส นายจ้างต้องทำการจัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักชั่วคราว เพื่อรักษาตัวให้สภาพร่างกายรวมทั้งอุณหภูมิภายในร่างกายกลับมาคงที่สู่สภาพปกติ
4. นายจ้างควรปิดป้ายประกาศสำหรับแจ้งเตือนในจุดที่เป็นอันตรายแก่ลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น จุดที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ที่มีสภาพอุณหภูมิความร้อนสูงจนสามารถส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของบุคคล
5. นายจ้างควรจัดตั้งมาตรการการทำงาน ในกรณีที่ลูกจ้างมีความจำเป็นต้องทำงานในบริเวณใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส ให้มีการสวมเครื่องแต่งกายที่รัดกุม สวมถุงมือและรองเท้าตลอดเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างความปลอดภัย และเพื่อป้องกันความร้อนที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของลูกจ้างได้

หมวด 2 มาตรฐานด้านแสงสว่าง
1. สำหรับงานที่ไม่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การบด การขนย้าย หรือการบรรจุ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 50 Lux
2. พื้นที่ที่ใช้สำหรับเก็บวัสดุ ตัวอย่างเช่น ห้องเก็บวัสดุ โกดัง รวมทั้งบริเวณเฉลียงและบันไดภายในสถานที่ประกอบการ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 50 Lux
3. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดเล็กน้อยในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การสีข้าว หรือการผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อย่างง่าย ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 100 Lux
4. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดปานกลางในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การประกอบชิ้นส่วนภาชนะ การเย็บผ้าหรือการเย็บหนัง ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 200 Lux
5. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การทดสอบและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การซ่อมแซมเครื่องจักร หรือการกลึงแต่งโลหะ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 300 Lux
6. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงมากเป็นพิเศษในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การเย็บผ้าสีมืดทึบ การประกอบชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก หรือการเจียระไนเพชร พลอย ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 1000 Lux
7. พื้นที่บริเวณ ทางเดินภายนอกสถานที่ประกอบการ รวมทั้งบริเวณถนน ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 20 Lux

นอกจากมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานในหมวดที่เกี่ยวข้องกับอาคาร สถานที่และการก่อสร้างโรงงานแล้ว ยังมีมาตรฐานความปลอดภัยในหมวดต่างๆที่เจ้าของธุรกิจควรศึกษาพิจารณาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานและความสูญเสีย ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของทุกชีวิตในโรงงานและสายการผลิต เพิ่มผลผลิต และกำไรให้เจ้าของธุรกิจได้อีกด้วย


 

Share this post :